เรื่องเสร็จที่ ๒๐๔๔/๒๕๕๘
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระ
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ
ที่ นร ๐๕๐๓/๒๐๓๖๐ ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ความว่า ประธานกรรมการพิจารณาชี้ขาด
การยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอเรื่อง
การยุติ
การดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการ
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณากำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระให้เป็นที่ยุติ
ตามข้อสังเกตของที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ครั้งที่ ๓/๒๕๕๗
ทั้งนี้
สรุปความเป็นมาเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างกรมชลประทานกับเทศบาลนครนครราชสีมาได้ว่า กรมชลประทานได้มีหนังสือ
ด่วนที่สุด ที่ กษ ๐๓๐๖/๑๔๓๙๕ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕
ส่งข้อพิพาทระหว่างกรมชลประทานกับเทศบาลนครนครราชสีมาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด
เพื่อพิจารณาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙
กรณีเรียกร้องให้เทศบาลนครนครราชสีมาชำระค่าชลประทานค้างชำระพร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน
๔๕,๙๗๐,๒๐๑.๓๕ บาท
อัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า
เทศบาลนครนครราชสีมาเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำชลประทานเพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปา
โดยสูบน้ำ ณ โรงสูบน้ำอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
และโรงสูบน้ำบ้านมะขามเฒ่า อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
ซึ่งอยู่ภายในแนวเขตทางน้ำชลประทาน ตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕๑ (พ.ศ. ๒๕๔๐)
และฉบับที่ ๕๗ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช
๒๔๘๕ และเมื่อกรมชลประทานเรียกเก็บค่าชลประทาน
ผู้รับอนุญาตให้ใช้น้ำชลประทานต้องชำระ
ค่าชลประทานให้แก่ทางราชการตามข้อตกลงในการใช้น้ำชลประทาน
เทศบาลนครนครราชสีมาจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าชลประทานให้แก่ทางราชการตามข้อตกลงในการใช้น้ำชลประทาน
สำหรับ
เดือนมกราคม ๒๕๔๖ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๘ ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๒
(พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕
ในอัตราลูกบาศก์เมตรละ ๕๐ สตางค์ แต่โดยที่เป็นกรณีไม่สามารถคำนวณปริมาณการใช้น้ำชลประทาน
จากมาตรวัดน้ำได้เนื่องจากมาตรวัดน้ำในการสูบน้ำ ณ
โรงสูบน้ำอ่างเก็บน้ำลำตะคองถูกฟ้าผ่า
ส่วนโรงสูบน้ำบ้านมะขามเฒ่าไม่ได้ติดตั้งมาตรวัดน้ำ
ซึ่งต่อมาในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการปรากฏข้อเท็จจริงว่า
เทศบาลนครนครราชสีมาและกรมชลประทานได้ยอมรับวิธีการคิดคำนวณปริมาณการใช้น้ำชลประทานตามระเบียบคณะกรรมการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน
ว่าด้วยการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๓๐
ในกรณีไม่ติดตั้งมิเตอร์หรือมิเตอร์เสียให้ชำระค่าชลประทานเป็นรายเดือน
ตามปริมาณน้ำสูงสุดที่ขนาดของเครื่องสูบน้ำสูบได้ ๕๐๐ ชั่วโมงต่อเดือน
ซึ่งกรมชลประทานคำนวณค่าชลประทานค้างชำระในเดือนพิพาทดังกล่าว
รวมจำนวน ๔๔,๖๗๔,๒๑๒ บาท โดยได้มีหนังสือ
ด่วนที่สุด ที่ กษ ๐๓๐๖/๖๗๑๕ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๖ แจ้งให้เทศบาลนครนครราชสีมาทราบแล้ว และเทศบาลนครนครราชสีมาได้มีหนังสือ
ที่ นม ๕๒๐๐๕/๕๓๒๖ ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ แจ้งว่า เห็นชอบตามที่กรมชลประทานคำนวณ
ค่าชลประทาน จำนวน ๔๔,๖๗๔,๒๑๒ บาท และยอมรับภาระหนี้ค้างชำระค่าชลประทานดังกล่าว
โดยขอผ่อนเป็นรายงวด งวดละ ๒,๙๗๘,๒๘๐.๘๐ บาท
ในเดือนกันยายนทุกปี รวม ๑๕ งวด นับตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๘ เป็นต้นไป
แต่กรมชลประทานแจ้งว่า
กรมชลประทานไม่มีอำนาจกำหนดให้มีการผ่อนชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระได้
เนื่องจากมิใช่ค่าชลประทานที่ผู้ใช้น้ำต้องชำระตามปกติ
แต่เป็นค่าชลประทานค้างชำระซึ่งต้องชำระเต็มจำนวนเพื่อให้ได้รับยกเว้นโทษทางอาญา
ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา
ในเรื่องเสร็จที่ ๗๔๑/๒๕๕๑ อย่างไรก็ดี อัยการสูงสุดเห็นว่า
เมื่อเทศบาลนครนครราชสีมาได้ยอมรับปริมาณการใช้น้ำชลประทานและจำนวนค่าชลประทาน
ค้างชำระดังกล่าว เทศบาลนครนครราชสีมาจึงต้องชำระค่าชลประทานค้างชำระ จำนวน
๔๔,๖๗๔,๒๑๒ บาท ให้แก่กรมชลประทาน จึงเห็นควรตัดสินชี้ขาดให้เทศบาลนครนครราชสีมาชำระค่าชลประทานค้างชำระตั้งแต่เดือนมกราคม
๒๕๔๖ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๘ จำนวน ๔๔,๖๗๔,๒๑๒ บาท ให้แก่กรมชลประทาน
และสำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งคำวินิจฉัยให้คู่กรณี
ทั้งสองฝ่ายทราบเพื่อเจรจาตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้
จึงเสนอคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(กยพ.)
เพื่อพิจารณาตัดสินชี้ขาด
ต่อมาในการประชุม
กยพ. ครั้งที่ ๒/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
วาระที่ ๓.๗
ที่ประชุมได้มีมติให้ฝ่ายเลขานุการ กยพ. ตรวจสอบข้อเท็จเพิ่มเติมกรณีที่หน่วยงานของรัฐฝ่ายที่ก่อให้เกิดความเสียหายไม่ติดใจโต้แย้งในเรื่องจำนวนเงินที่หน่วยงานของรัฐอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง
แต่มีความประสงค์ที่จะขอทำการผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวเป็นงวดๆ นั้น
กรณีเช่นว่านี้หากหน่วยงาน
ของรัฐฝ่ายที่เรียกร้องยินยอมให้ผ่อนชำระ สามารถที่จะผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่
อย่างไร และจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะสามารถผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวได้
ฝ่ายเลขานุการ กยพ. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพบว่า
ข้อพิพาทระหว่างกรมชลประทานกับหน่วยงานของรัฐผู้ค้างชำระค่าชลประทานที่กรมชลประทานส่งมายังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ นั้น มิได้มีการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา ๓๖
แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕
ซึ่งฝ่ายเลขานุการ กยพ. มีความเห็นว่า
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ได้มีมติตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทและคณะรัฐมนตรี
มีมติรับทราบผลการประชุมดังกล่าวแล้ว
คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามคำตัดสินชี้ขาดของ กยพ.
ส่วนการที่จะชำระหนี้ในครั้งเดียวเต็มจำนวนหรือชำระเป็นงวด ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับความ
ตกลงระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม
ในประเด็นข้างต้นปรากฏว่ากรมชลประทานได้เคยมีหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการที่กรมชลประทานจะดำเนินการออกกฎกระทรวงโดยให้อำนาจกรมชลประทานกำหนดหลักเกณฑ์หรือระเบียบในการลดหย่อนและวิธีการผ่อนชำระกับผู้ใช้น้ำ
ที่ค้างชำระค่าชลประทานหรือเงินเพิ่มตามกฎหมายว่าจะกระทำได้หรือไม่
และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๓) ได้ตอบข้อหารือปรากฏตามเรื่องเสร็จที่ ๗๔๑/๒๕๕๑
สรุปได้ว่า �กรณีค้างชำระ
ค่าชลประทาน
ผู้ค้างชำระค่าชลประทานจะต้องนำเงินค่าชลประทานที่ค้างชำระและเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของค่าชลประทานค้างชำระดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนด
โดยต้องเป็นการชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระและเงินเพิ่มเต็มจำนวนเท่านั้น
จึงจะมีผลเป็นการยกเว้นโทษ
ทางอาญาให้แก่ผู้ค้างชำระค่าชลประทานได้
ทั้งนี้ ตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ
การชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕ และในขณะเดียวกัน
หากผู้ค้างชำระค่าชลประทาน
ไม่ดำเนินการชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระและเงินเพิ่มภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนด
กรมชลประทานย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา ๓๖ วรรคหนึ่ง
แห่งพระราชบัญญัติ
การชลประทานหลวงฯ กับผู้ค้างชำระค่าชลประทานต่อไป
โดยไม่อาจนำหลักการบังคับทางแพ่งมาใช้บังคับกับกรณีการค้างชำระค่าชลประทานได้
ดังนั้น
กรมชลประทานจึงไม่มีอำนาจกำหนดให้มีการผ่อนชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระและเงินเพิ่มตามมาตรา
๓๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ
การชลประทานหลวงฯ ได้� จากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวส่งผลให้กรณีที่มีหนี้
ค่าชลประทานค้างชำระจำนวนมากและผู้ค้างชำระค่าชลประทานขอผ่อนชำระเป็นรายงวด
กรมชลประทานไม่อาจรับชำระหนี้โดยวิธีผ่อนชำระได้
เพราะอาจขัดกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๓)
กยพ.
ในการประชุม ครั้งที่ ๓/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗
ได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วมีมติตัดสินชี้ขาดให้เทศบาลนครนครราชสีมาชำระค่าชลประทานค้างชำระ
ตั้งแต่เดือนมกราคม
๒๕๔๖ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๘ จำนวน ๔๔,๖๗๔,๒๑๒ บาท ให้แก่
กรมชลประทานตามเหตุผลที่อัยการสูงสุดเสนอ
และได้มีมติให้ตั้งเป็นข้อสังเกตเสนอคณะรัฐมนตรี
เพื่อพิจารณามีมติมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณากำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระให้เป็นที่ยุติต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา
(คณะที่ ๑)
ได้พิจารณาข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรี
โดยมีผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน)
ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (กรมส่งเสริม
การปกครองท้องถิ่น) ผู้แทนเทศบาลนครนครราชสีมา และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแล้ว
เห็นว่า โดยที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อพิพาทระหว่างกรมชลประทานกับเทศบาลนครนครราชสีมาซึ่งค้างชำระค่าชลประทานตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๔๖ ถึงเดือนกันยายน
๒๕๔๘ นั้น กรมชลประทานมิได้มีการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา ๓๖[๑] แห่งพระราชบัญญัติ
การชลประทานหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๕
กับเทศบาลนครนครราชสีมา แต่กรมชลประทานได้ส่ง
ข้อพิพาทดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติ
ในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) และในการประชุม
ครั้งที่ ๓/๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ กยพ. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้วมีมติตัดสิน
ชี้ขาดให้เทศบาลนครนครราชสีมาชำระค่าชลประทานค้างชำระตั้งแต่เดือนมกราคม
๒๕๔๖ ถึง
เดือนกันยายน ๒๕๔๘ จำนวน ๔๔,๖๗๔,๒๑๒ บาท
ให้แก่กรมชลประทาน และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบผลการประชุมดังกล่าวแล้ว กรณีจึงเป็นเรื่องของการติดตามทวงหนี้ที่ค้างชำระตามขั้นตอน
ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ เทศบาลนครนครราชสีมาจึงต้องปฏิบัติตามคำตัดสินชี้ขาดของ
กยพ.
ส่วนการที่เทศบาลนครนครราชสีมาจะชำระหนี้ค่าชลประทานที่ค้างชำระเต็มจำนวนในครั้งเดียว
หรือขอผ่อนชำระนั้น เป็นเรื่องการขอปฏิบัติการชำระหนี้ทางแพ่งของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้
มิใช่กรณี
การนำค่าชลประทานที่ค้างชำระและเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของค่าชลประทานดังกล่าวมาชำระแก่
เจ้าพนักงานตามมาตรา ๓๖[๒]
แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวงฯ แต่อย่างใด กรมชลประทาน
ในฐานะเจ้าหนี้และเทศบาลนครนครราชสีมาในฐานะลูกหนี้จึงสามารถเจรจาตกลงกันในวิธีการ
ชำระหนี้ได้ตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกรมชลประทานมีดุลพินิจ
ที่จะกำหนดให้มีการผ่อนชำระค่าชลประทานที่ค้างชำระได้
อนึ่ง
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑) มีข้อสังเกตว่า โดยที่มาตรา ๘ (๕)[๓] แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง
พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ
การชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการลดหย่อนหรือผ่อนชำระ
ค่าชลประทานในกรณีปกติที่ยังไม่ค้างชำระได้ แต่กรมชลประทานยังไม่เคยออกกฎกระทรวง
ในลักษณะดังกล่าว กรมชลประทานจึงควรเร่งดำเนินการออกกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อบรรเทาภาระ
การชำระค่าชลประทานของผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทาน ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้เกิดปัญหาผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานค้างชำระหนี้ค่าชลประทานจำนวนมากได้ในอนาคต
นอกจากนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากรมชลประทานได้อาศัยอำนาจตามมาตรา
๘ ทวิ[๔] แห่งพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง
พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ ๔)
พ.ศ. ๒๕๑๘ ออกระเบียบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน
พ.ศ. ๒๕๔๕ และอาศัยอำนาจตามระเบียบดังกล่าวไปออกระเบียบคณะกรรมการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานว่าด้วยการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน
พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานเพื่อใช้บังคับกับประชาชนโดยทั่วไปโดยไม่มีอำนาจแต่อย่างใด
การที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการไปตามระเบียบดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความเสียหายและเกิดความรับผิดชอบทั้งในทางแพ่งและในทางอาญาในภายหลังได้
เพราะเป็นการอาศัยอำนาจตามระเบียบที่ผู้ออกไม่มีอำนาจออกได้
สมควรที่กรมชลประทานจะได้ทบทวนเสียใหม่ในทันที
(นายดิสทัต โหตระกิตย์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ธันวาคม ๒๕๕๘
ส่งพร้อมหนังสือ ที่ นร ๐๙๐๗/ ๘๓๒ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
[๑]มาตรา
๓๖ ผู้ใดไม่ชำระค่าชลประทานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ออกตามความใน
มาตรา ๘ (๓) หรือ (๔) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบเท่าของค่าชลประทานที่ค้างชำระ
เมื่อผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้นำค่าชลประทานที่ค้างชำระ และเงินเพิ่มอีกหนึ่งเท่าของค่าชลประทานดังกล่าวมาชำระแก่เจ้าพนักงานภายในเวลาที่เจ้าพนักงานกำหนดให้แล้ว ให้ยกเว้นโทษในคดีนั้นเสีย
[๓]มาตรา ๘ รัฐมนตรีมีอำนาจเรียกเก็บค่าชลประทานจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินในเขตชลประทานหรือจากผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทาน ไม่ว่าผู้ใช้น้ำจะอยู่ในหรือนอกเขตชลประทานโดยออกเป็นกฎกระทรวงกำหนด
ฯลฯ ฯลฯ
(๕) หลักเกณฑ์ ระเบียบ และวิธีการในการจัดเก็บหรือชำระค่าชลประทานตลอดจนการยกเว้น ลดหย่อน หรือวิธีการผ่อนชำระค่าชลประทาน
ฯลฯ ฯลฯ
[๔]มาตรา ๘ ทวิ ให้ตั้งทุนหมุนเวียนขึ้นในกรมชลประทาน เรียกว่า ทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน
ค่าชลประทานที่เก็บได้ตามมาตรา ๘ ให้นำส่งเข้าบัญชีทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดิน
การใช้จ่ายเงินของทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทาน ให้กระทำได้เฉพาะการชลประทานตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศรายงานการรับจ่ายเงินของทุนหมุนเวียนเพื่อการชลประทานในราชกิจจานุเบกษา
รายงานการรับจ่ายเงินตามวรรคสี่ เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว ให้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอรัฐสภาทราบ